วันอังคารที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2551

ความรู้ที่ท่านอาจจะยังไม่รู้



1. รู้รอบตัวมากมาย แต่ไม่รู้ดีรู้ชั่ว ก็เสื่อม

2. รู้เว้นงู เว้นเสือ เว้นมีด เว้นปืน แต่ไม่รู้เว้นอบายมุข ก็เสื่อม

3. รู้ภาษาต่างประเทศแต่ไม่รู้คุณค่าภาษาไทย ก็เสื่อม

4. รู้ตอบคำถามแต่ไม่รู้ตอบคุณแผ่นดิน ก็เสื่อม

6. รู้วัน เดือน ปีเกิด แต่ไม่รู้กาลเทศะ ก็เสื่อม

7. รู้พยากรณ์อากาศ แต่ไม่รู้ว่าชีวิตมีขึ้นมีลง ก็เสื่อม

8. รู้จักรวาลวิทยานภากาศ แต่ไม่รู้จักฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ ก็เสื่อม

9. รู้จักคนมากมายหลายวงการ แต่ไม่รู้จักตนเอง ก็เสื่อม

10. รู้จักบริหารคน บริหารงาน แต่ไม่รู้จักวิธีบริหารใจ ก็เสื่อม

11. รู้จักวิธีหาเงินมากมาย แต่ไม่รู้วิธีบริหารเงิน ก็เสื่อม

12. รู้จักสร้างตึกสูงนับร้อยชั้น แต่ไม่รู้วิธีฝึกใจให้สูง ก็เสื่อม

13. รู้จักโกรธ แต่ไม่รู้จักให้อภัย ก็เสื่อม

14. รู้จักกติกามารยาท แต่ไม่รู้จักกฏแห่งกรรม ก็เสื่อม

15. รู้จักสวมนาฬิกาแพงๆ แต่ไม่รู้จักคุณค่าของเวลา ก็เสื่อม

16. รู้จักการเข้าสังคม แต่ไม่รู้จักการเข้าหาสังฆะ ก็เสื่อม

17. รู้เรียนเอาปริญญาสูงๆ แต่ไม่รู้จักยกพฤติกรรมให้สูง ก็เสื่อม

18. รู้ที่จะมีลูก แต่ไม่รู้จักเลี้ยงลูก ก็เสื่อม

19. รู้ที่จะรัก แต่ไม่รู้จักรับผิดชอบ ก็เสื่อม

20. รู้ที่จะดู แต่ไม่รู้ที่จักเห็น ก็เสื่อม

21. รู้ที่จะนับถือ แต่ไม่รู้ที่จะนับถืออย่างไร ก็เสื่อม

22. รู้ที่จะพูด แต่ไม่รู้จักศิลปะการพูด ก็เสื่อม

23. รู้ที่จะสวมหัวโขน แต่ไม่รู้ที่จะถอด ก็เสื่อม

24. รู้ว่าวันหนึ่งจะต้องตาย แต่ไม่รู้วิธีเตรียมตัวตาย ก็เสื่อม

25. รู้คุณของเงินทอง แต่ไม่รู้คุณพ่อคุณแม่ ก็เสื่อม




............ ว.วชิรเมธี .............


เพื่อความสวัสดีแห่งชีวิต


เพื่อความสวัสดีแห่งชีวิต
สิ่งที่เธอควรมี “สติปัญญา”
สิ่งที่เธอควรแสวงหา “กัลยาณมิตร”
สิ่งที่เธอควรคิด “ความดีงาม”
สิ่งที่เธอควรพยายาม “การศึกษา”
สิ่งที่เธอควรเข้าหา “นักปราชญ์”
สิ่งที่เธอควรฉลาด “การเข้าสังคม”
สิ่งที่เธอควรนิยม “ความซื่อสัตย์”
สิ่งที่เธอควรตัด “อกุศลมูล”
สิ่งที่เธอควรเพิ่มพูน “บุญกุศล”
สิ่งที่เธอควรอดทน “การดูหมิ่น”
สิ่งที่เธอควรยิน “พุทธธรรม”
สิ่งที่เธอควรจดจำ “ผู้มีคุณ”
สิ่งที่เธอควรเทิดทูน “สถาบันกษัตริย์”
สิ่งที่เธอควรขจัด “ความเห็นแก่ตัว”
สิ่งที่เธอควรเลิกเมามัว “การพนัน”
สิ่งที่เธอควรสร้างสรรค์ “สัมมาชีพ”
สิ่งที่เธอควรเร่งรีบ “การแทนคุณบุพการี”
สิ่งที่เธอควรปฏิบัติทันที “ทำวันนี้ให้ดีที่สุด "
.................. ว.วชิรเมธี ................

วันจันทร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2551

มีไปทำไม ?




มีเงินนับแสนล้านบาท
แต่ใช้จริงวันละไม่ถึง 100 บาท
มีไปทำไม ?

มีเตียงใหญ่โตมโหฬาร
แต่นอนเพียงแค่เต็มแผ่นหลัง
มีไปทำไม ?

มีกฎหมายนับพันมาตรา
แต่มีอาชญากรอยู่เต็มเมือง
มีไปทำไม ?

มีอำนาจอยู่เต็มมือ
แต่ไม่กล้าตัดสินใจทำอะไรเลย
มีไปทำไม ?

มีพระไตรปิฏกอยู่เต็มตู้
แต่ไม่เคยเปิดออกมาศึกษาเลย
มีไปทำไม ?

มีพี่น้องนับสิบคน
แต่แตกสามัคคีกันทุกคน

มีไปทำไม ?

มีตาอยู่สองข้าง
แต่ไม่เคยมองหาสิ่งที่ดีเลย
มีไปทำไม ?

มีบ้านใหญ่โตเหมือนกับวัง
แต่อยู่กันแค่ 4 คน พ่อแม่ลูก
มีไปทำไม ?

มีนาฬิกาแสนแพง
แต่ไม่เคยทำอะไรตรงเวลา

มีไปทำไม ?

มี ส.ส. อยู่เต็มสภา
แต่มาประชุมไม่เคยครบเลย

มีไปทำไม ?

มีภรรยาแสนดี
แต่ไม่เคยแบ่งเวลาให้เธอเลย

มีไปทำไม ?

มีวัดอยู่แทบทุกหมู่บ้าน
แต่ศีลธรรมของสังคมแย่ลงทุกวัน

มีไปทำไม ?

มีมือมีเท้าสมบูรณ์
แต่ไม่เคยลงแรงทำอะไรเลย

มีไปทำไม ?

มีเท้าอยู่สองข้าง
แต่ไม่เคยเดินเข้าหาโอกาสเลย

มีไปทำไม ?

มีรถนับสิบคัน
แต่ใช้งานจริงแต่คันเดียว

มีไปทำไม ?

มีเวลาอยู่ในโลกไม่ถึงร้อยปี
แต่กลับแบ่งเวลาไปริษยาคนอื่น

มีไปทำไม ?

มีพ่อแม่อยู่ที่บ้าน
แต่ไม่เคยปรนนิบัติท่านเลย
มีไปทำไม ?

มีลูกแสนน่ารัก
แต่ไม่เคยโอบกอดลูกเลย

มีไปทำไม่ ?

มีรองเท้าเป็นพันคู่
แต่ใส่จริงแค่วันละคู่
มีไปทำไม ?

มีหูอยู่สองข้าง
แต่ไม่เคยฟังธรรมเลย
มีไปทำไม ?

มีปัญญาอยู่กับตัว
แต่กลับใช้อารมณ์เป็นใหญ่
มีไปทำไม ?



....... ว. วชิรเมธี ..........




คำสอนธรรมะ





























คำสอนหลวงพ่อชา







กลอนธรรมะสอนใจ



ขอพวกเราทั้งหลายจำไว้เถิด ว่าการเกิดนี้ลำบากยากนักหนา
ครั้นคนเราได้กำเนิดเกิดขึ้นมา ก็กลับพากันถึงซึ่งความตาย
( หลวงวิจิตรวาทการ)
ต้องเวียนเกิดเวียนตายตามบุญบาป เมื่อไรทราบธรรมแท้ไม่แปรผัน
ไม่ต้องเกิดไม่ต้องตายสบายครัน มีเท่านั้นใครหาพบจบกันเอย
( ท่านพุทธทาสภิกขุ)
กายนี้ท่านเปรียบดั่งท่อนไม้ ครั้นดับไปสมมติว่าเป็นผี
เครื่องเปื่อยเน่าสะสมถมปฐพี เหมือนกันทั้งผู้ดีและเข็ญใจ
( เจ้าพระยาคลัง หน)
อันรูปรสกลิ่นเสียงนั้นเพียงหลอก ไม่จริงดอกอวิชชาพาให้หลง
อย่าลืมนะร่างกายไม่เที่ยงตรง ไม่ยืนยงทรงอยู่คู่ฟ้าเอย
( จากหนังสือเก่าโบราณ)
กลางทะเลอวกาศที่เวิ้งว้าง สรรพสิ่งได้ถูกสร้างแปลงไว้
จากดินน้ำลมและไฟ ก่อเกิดเป็นสิ่งใหม่เรื่อยมา
เมื่อถึงคราวแตกดับ สรรพสิ่งก็หมุนกลับไปหา
ธรรมชาติเดิมแท้นั้นอีกครา เวียนกลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้น
( สมภาร พรหมทา)


จาก FW Mail

ขืนทำ...จะช้ำใจ


อย่า ทำงานจนป่วยตาย



อย่า มีความสุขที่ผิดศีลธรรม



อย่า สบายจนเคยตัว



อย่า บ้าฟังคำคนสอพลอ



อย่า รวยบนความฉ้อฉล



อย่า ใช้คนไม่เหมาะกับงาน



อย่า คบคนมองโลกในแง่ร้าย



อย่า เป็นชาวพุทธแต่พึ่งไสย



อย่า ก่งอยู่คนเดียว



อย่า ใช้พระเดชจนลืมพระคุณ



อย่า ชำนาญในเรื่องชั่วช้า


อย่า ขึ้งเคียดต่อคนที่คิดต่าง


อย่า ลืมใครผู้เคยทำคุณ


อย่า ให้ทานกับคนไม่เห็นคุณค่า


อย่า หลงเสน่ห์อบายมุข


อย่า จำแต่เรื่องเลวร้าย


อย่า กลัวที่จะก้าวไปข้างหน้า


อย่า รอให้พระเจ้ามาช่วย


อย่า เป็นคนเห็นแก่ได้


อย่า ปากหวานจนเสียระบบ


อย่า ขายศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์


อย่า สนใจเรื่องของตัวเอง


อย่า เที่ยวเกินขอบเขต


อย่า พึ่งใบบุญคนอื่นตลอดกาล


อย่า ปลูกต้นกร่างต้นไทร


อย่า สนับสนุนคนพาล


อย่า ยกเงินตราขึ้นเป็นพระเจ้า


............. ว. วชิรเมธี ...............

คุณค่าของความเป็นมนุษย์



มีพุทธศาสนสุภาษิตกล่าวไว้แปลความว่า “ความได้เป็นมนุษย์เป็นการยาก” เมื่อ ได้รับทราบความดังนี้แล้ว อย่าเพียงเข้าใจตื้นๆ แต่พึงพิจารณาด้วยดี ให้พร้อมด้วยสติและ ปัญญา ให้ลึกซึ้ง เพื่อจักได้ประโยชน์จากความหมายของพุทธภาษิตนี้อย่างสมบูรณ์ ปรกติ สิ่งใดที่ได้ยากท่านถือว่าเป็นของมีค่า ควรถนอมรักษาอย่างยิ่ง การได้เป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นการยาก เปรียบดังได้เพชรน้ำงามเม็ดใหญ่หาค่ามิได้ไว้ในมือ เราย่อมต้องรักษาเพชรนั้นยิ่งกว่าได้เศษกระเบื้องและไม่มีราคา การรักษาค่าของความเป็นมนุษย์ก็คือ การรักษาคุณสมบัติ ของมนุษย์ไว้ให้สมบูรณ์ที่สุด เช่นเดียวกับการรักษาเพชรนั่นเอง การรักษาเพชรนั้นไม่เพียงรักษาไม่ให้สูญหายเท่านั้น แต่ต้องรักษาไม่ให้แตกร้าว ไม่ให้เกิดรอยขีดข่วนแม้เท่าขนแมว เพราะนั่นจะเป็นเหตุให้ความงามของเพชรลดลง เป็นเหตุให้ค่าของเพชรลดลง เป็นเหตุให้ ราคาของเพชรต่ำลง

“ความได้เป็นมนุษย์เป็นการยาก” ก็คือยากนักที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์ ที่เห็นเป็น มนุษย์กันอยู่เต็มบ้านเต็มเมืองมากขึ้นทุกวัน จนถึงกับเกิดการตกใจกลัวมนุษย์จะล้นโลก นั้น มิใช่จะเป็นเครื่องแสดงข้อคัดค้านพุทธภาษิตดังกล่าว เพราะแม้มนุษย์จะมากมายเพียงไร แต่แม้ลองเปรียบกับสัตว์ทั้งหลาย มนุษย์ก็จะมีจำนวนน้อยนัก สัตว์ใหญ่สัตว์น้อยสัตว์ปีก สัตว์ไม่มีปีก รวมทั้งมดปลวกยุงแมลงในโลกเรานี้มีจำนวนมากมายเกินกว่าจะสำรวจได้ แต่มนุษย์ยังสำรวจจำนวนได้ ซึ่งก็เป็นเครื่องแสดงความเกิดได้ยากของมนุษย์ ยืนยันพุทธภาษิตว่า “ความได้เป็นมนุษย์เป็นการยาก”

การรักษาความเป็นมนุษย์ก็เช่นกัน ไม่ควรเพียงเพื่อรักษาชีวิตไว้ให้อยู่ยืนยาวเท่า นั้น แต่ต้องรักษาคุณค่าของมนุษย์ไว้ให้สมบูรณ์ มนุษย์ก็คือคน คุณค่าของมนุษย์หรือของ คนที่สำคัญที่สุดคือความไม่เป็นสัตว์ ไม่ใช่สัตว์ เมื่อพูดถึงความเป็นสัตว์ ทุกคนย่อมรู้สึกถึง ความแตกต่างของตนเองกับสัตว์อย่างชัดเจน ทุกคนย่อมยินดีอย่างยิ่งที่ตนไม่เกิดเป็นสัตว์ ยินดีที่ตนไม่ใช่สัตว์ แม้เพียงถูกเปรียบว่าเป็นสัตว์ หรือเพียงเหมือนสัตว์ ก็ย่อมไม่พอใจอย่างยิ่ง นั่นก็เพราะทุกคนเห็นความห่างไกลระหว่างคุณค่าของคนกับของสัตว์ ค่าของคน เป็นค่าที่สูงกว่าค่าของสัตว์ ดังนั้นคุณค่าของมนุษย์จึงแตกต่างกับสัตว์ ผู้เป็นมนุษย์จึงจำเป็นต้องถนอมรักษาคุณค่าของตนไว้มิให้เสียความเป็นมนุษย์

คุณค่าสำคัญของมนุษย์ซึ่งแตกต่างกับสัตว์ที่เห็นได้ง่ายๆ เช่น สัตว์ไม่รู้จักเหตุผล ไม่มีเหตุผล นั่นคือสัตว์ไม่มีปัญญาของมนุษย์ ปัญญาของสัตว์มีเพียงรู้จักหาอาหารกินเมื่อหิว จะรู้จักสะสมอาหารไว้ก็เพียงสัตว์บางชนิดเท่านั้น ปัญญาที่ยิ่งกว่านั้นหลายอย่างที่มนุษย์ มี สัตว์ไม่มี สัตว์ไม่รู้ถูกรู้ผิด ไม่รู้ผิดชอบชั่วดีเหมือนมนุษย์ เกิดเป็นมนุษย์จึงต้องรักษา ปัญญาที่รู้จักผิดชอบชั่วดีไว้ สัตว์ไม่มีเมตตากรุณาเพราะไม่รู้จักว่าความเมตตากรุณาเป็น อย่างไร มีคุณเพียงไร มนุษย์ต้องอบรมเมตตากรุณาให้มาก ต้องมีเมตตากรุณาให้มาก เพราะมนุษย์มีปัญญารู้ว่าเมตตากรุณาเป็นความดี เป็นคุณค่าสำคัญของมนุษย์ ขาดคุณค่า สำคัญนี้ความเป็นมนุษย์ย่อมไม่สมบูรณ์ คงจะเคยได้ยินคำประนามผู้ไม่มีเมตตากรุณาว่าไม่ เหมือนมนุษย์ นั่นแหละคือคำรับรองยืนยันว่าเมตตากรุณาเป็นสมบัติเป็นคุณลักษณะของ มนุษย์ สัตว์ไม่รู้ว่าการเบียดเบียนเป็นอย่างไร มีคุณหรือมีโทษอย่างไร แต่มนุษย์รู้ว่าการ เบียดเบียนไม่ดี เป็นโทษ มนุษย์จึงควรต้องไม่เบียดเบียนเพื่อรักษาคุณสมบัติของมนุษย์ ประการนี้ไว้ สัตว์แม้จะมีกตัญญูกตเวที เช่นหมาแมวที่รักและมีกตัญญูต่อเจ้าของ แต่ก็เป็น เพียงในระดับของสัตว์ คือในระดับที่สติปัญญาของสัตว์จะรู้ได้ทำได้ มนุษย์มีปัญญารู้ได้ทำ ได้มีปัญญาเข้าใจว่าความกตัญญูกตเวทีเป็นคุณธรรมที่ดี ที่ประเสริฐ ดังนั้นมนุษย์จึงควรใช้ สติปัญญารักษาความสมบูรณ์ด้วยคุณธรรมนี้ของมนุษย์ไว้ เพื่อให้ความเป็นมนุษย์สมบูรณ์ ไม่บกพร่อง มนุษย์ต้องไม่ทำลายคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ด้วยการไม่กตัญญู หรือด้วย อกตัญญูไม่ตอบแทนพระคุณที่ท่านทำแล้ว อันความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์จริงนั้น ไม่เพียงแต่จะกตัญญูกตเวทีต่อผู้ทำคุณแก่ตนโดยตรงเท่านั้น แม้ผู้ทำคุณทางอ้อม เช่น เป็นผู้ประพฤติ ดีปฏิบัติชอบ มนุษย์ที่มีคุณค่าของมนุษย์สมบูรณ์จริงก็ยังกตัญญูต่อผู้นั้น เพราะมีปัญญารู้ได้ว่าผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบคือผู้มีคุณต่อส่วนรวม จึงเป็นผู้มีคุณแก่ตนด้วย ควรได้รับ ความกตัญญูกตเวทีของตนด้วย ปัญญาที่สมบูรณ์ของมนุษย์จะทำให้สามารถเห็นความจริงได้เช่นนี้

คุณธรรมที่ได้กล่าวมาแล้ว เป็นคุณธรรมส่วนใหญ่ เป็นหลักสำคัญของมนุษย์ ยังมีคุณธรรมของมนุษย์หรือคุณสมบัติที่ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ปลีกย่อยออกไปอีกเป็นอันมาก เมื่อได้สิ่งที่ได้ด้วยยากคือได้ความเป็นมนุษย์แล้ว มนุษย์ทุกคนผู้รู้เดียงสาแล้ว ก็พึงสนใจที่จะรักษาความเป็นมนุษย์ของตนให้ดีที่สุด ให้ถือความเป็นมนุษย์ของตนเหมือน เพชรหาค่ามิได้ จักทุ่มเทจิตใจระวังรักษาความเป็นมนุษย์ของตนให้เพียงนั้น มนุษย์ที่ขาด คุณสมบัติของมนุษย์ก็เหมือนเพชรงามที่แตกร้าว เป็นเพชรที่แตกร้าวย่อมไม่เหลือราคา ของเพชร ย่อมเป็นเหมือนเศษกระเบื้องและหาราคาไม่ได้ฉันใด เป็นมนุษย์ที่ไม่รักษาคุณ ค่าไว้ ปล่อยให้เสื่อมสลายบกพร่อง ก็ย่อมเป็นคนหาราคาไม่ได้ ฉันนั้น พึงคำนึงถึงความ จริงนี้ด้วย จักเกิดกำลังใจปฏิบัติรักษาคุณค่าความเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์เต็มสติปัญญา ความสามารถ

สัปปุริสธรรม ธรรมของสัปบุรุษหรือคนดี หรือธรรมของมนุษย์ผู้มีความเป็นมนุษย์ สมบูรณ์ มี ๗ ประการ ศึกษาให้รู้ให้เข้าใจ แล้วปฏิบัติให้ได้ ก็จักสามารถรักษาคุณค่าแห่ง ความเป็นมนุษย์ทุกประการได้ สัปปุริสธรรม ๗ ประการคือ

๑. รู้จักเหตุ ๒. รู้จักผล ๓. รู้จักตน ๔. รู้จักประมาณ ๕. รู้จักกาล ๖. รู้จักประชุมชน ๗. รู้จักบุคคล
รู้จักเหตุก็คือรู้จักพิจารณาให้รู้ว่าเหตุใดจักให้เกิดผลใด ไม่ด่วนทำอะไรก็ตามโดยไม่พิจารณาให้รู้เสียก่อนว่าเมื่อทำแล้วผลที่เกิดจะเป็นเช่นไร ก่อนจะทำการทุกอย่างต้องรู้ว่า เป็นการทำที่เป็นเหตุดีหรือไม่ดี คือจะก่อให้เกิดผลดีหรือไม่ดี

รู้จักผล คือรู้จักว่าภาวะหรือฐานะหรือสิ่งที่ตนกำลังได้รับได้ประสบนั้น เกิดจากเหตุใด เป็นผลอันเกิดจากการกระทำอย่างไร ไม่ด่วนเข้าใจว่าผลดีที่กำลังได้รับอยู่เช่นเงินทอง ของมีค่าที่ลักขโมยคดโกงเขามานั้นเกิดจากเหตุดีคือการลักขโมย แต่ต้องเข้าใจว่าความ ร้อนใจที่กำลังได้รับเพราะเกรงอาญาต่างๆ นั้นแหละเป็นผลของการลักขโมยคือต้องรู้ว่าผล ดีที่กำลังได้รับเกิดจากเหตุดีอย่างไร ผลร้ายที่กำลังได้รับเกิดจากเหตุร้ายอย่างไร ผลร้าย ต้องอย่าเข้าใจว่าเป็นผลดีอย่าเข้าใจว่าเป็นผลร้าย

รู้จักตน คือรู้จักตัวเองว่าเป็นใคร อยู่ในภาวะและฐานะอย่างไร การรู้จักตนนี้จำเป็น มาก สำคัญมากเพราะมีความหมายลึกลงไปถึงว่าเมื่อรู้จักตัวเองว่าเป็นใคร มีภาวะและ ฐานะอย่างใดแล้ว จะต้องปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับภาวะและฐานะของตน จะได้รักษาความ มีค่าของตัวไว้ได้ ผู้ปฏิบัติไม่เหมาะสมกับภาวะและฐานะจักเสื่อมจากค่าของความเป็น มนุษย์ที่ตนเป็นอยู่

รู้จักประมาณ คือรู้จักประมาณว่าควรทำสิ่งใดเพียงใดที่เป็นการพอเหมาะพอควรแก่ ภาวะและฐานะของตน พอเหมาะพอควรแก่ผู้เกี่ยวข้อง พอเหมาะพอควรแก่เรื่องราว มีพุทธ ภาษิตกล่าวไว้ว่า “ความรู้จักประมาณยังประโยชน์ให้สำเร็จทุกเมื่อ”

รู้จักกาล คือรู้จักเวลา รู้ว่าเวลาใดควรทำหรือไม่ควรทำอะไร การทำผิดเวลาย่อมไม่ เกิดผลสำเร็จ ย่อมไม่เกิดผลดีเท่าที่ควร

รู้จักประชุมชน คือรู้จักภาวะและฐานะนิสัยใจคอบุคคลนั้นๆ ให้ถูกต้อง เพื่อว่าจะได้ ปฏิบัติตนที่เกี่ยวข้องด้วยให้เหมาะให้ควรแก่ประชุมชนนั้น

รู้จักบุคคล คือรู้จักภาวะและฐานะนิสัยใจคอของบุคคลนั้นๆ ให้ถูกต้อง เพื่อว่าจะได้ ปฏิบัติตนที่เกี่ยวข้องด้วยให้เหมาะให้ควร รู้จักว่าเขาเป็นพาล
จักได้หลีก รู้จักว่าเขาเป็น บัณฑิตคือคนดีจักได้เข้าใกล้ ให้เหมาะแก่แต่ละบุคคลไป ภาษิตที่ว่า “คบคนพาล พาลพา ไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล” จักเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อรู้จักบุคคลนี้แหละ

สัปปุริสธรรม ๗ ประการดังวิสัชนามานี้แหละจักทำให้ผู้รู้แม้พอสมควรทุกคนแล้ว ปฏิบัติด้วยดี จักสามารถรักษาค่าแห่งความเป็นมนุษย์ของตนไว้ได้ด้วยดีแล


พระนิพนธ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก


อะไรคือคุณค่าของความเป็นมนุษย์



สิ่งที่มีคุณค่าสำหรับความเป็นมนุษย์ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด
ไม่ว่าจะอยู่ประเทศใดในโลก ซึ่งถือเป็นหลักสากลกล่าวคือ
คุณค่าความเป็นมนุษย์ 5 ประการ คือ

1 .ความรักความเมตตา

2. ความจริง

3. ความสงบสุข

4. ความประพฤติชอบ

5. ความไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน การไม่ใช้กำลังในการแก้ปัญหา(อหิงสา)

โดย นายหอง ลันไธสง

พระพุทธเจ้าสอนอย่างไร



สอนให้รู้ -ให้เกิดปัญญา แก้อวิชชา ป้องกันความโง่

สอนให้สู้ -ให้เกิดขันติ มานะ ป้องกันความอ่อนแอ

สอนให้รัก -ให้ปรารถนาสุขต่อกัน

สอนให้รวย -ให้รู้จักสร้างฐานะ

สอนให้ละ -ให้รู้เท่าทัน แก้ความหลงยึดติด

คติธรรมประจำใจ 2



อย่าดูหมิ่นบุญกรรมจำนวนน้อย จะไม่ต้อยตามต้องสนองผล

แม้ตุ่มน้ำเปิดหงายรับสายชล ย่อมเต็มล้นด้วยอุทกที่ตกลง

อันนักปราชญ์สิ่งสมบ่มบุญบ่อย ทีละน้อยทำไปไม่ใหลหลง

ย่อมเต็มล้นด้วยบุญนั้นเป็นมั่นคง บุญย่อมส่งสู่สถานวิมานทอง



ที่มา หนังสือสวดมนต์ ทำวัตรเช้า-เย็นของพระภิกษุสามเณร และอุบาสกอุบาสิกา

...... วัดเจ้าพระยายมราช(วัดพะยอม)........

คติธรรมประจำใจ



ผู้สร้างความดีไว้ในแหล่งหล้า บุญย่อมพาใจเพลินเจริญศรี

ย่อมเพลิดเพลินคราตายวายชีวี ทั้งโลกนี้โลกหน้าบุญพาเพลิน

ย่อมเพลิดเพลินว่าฉันสรรค์กุศล จึงได้ดลแดนสวรรค์น่าสรรเสริญ

ผลของบุญกูลเกื้อดีเหลือเกิน ให้จำเริญเพลินจิตนิรันดร์ ฯ



...........จากพระพรหมจริยาจารย์...............






“ ผิดนั้นสำคัญไฉน ”


- คำว่า “ไม่สบายใจ” อย่าใช้ และอย่าให้มีขึ้นในใจ ต่อไป “ let it go, and get it out ” ก่อนมันจะเกิดต้อง “ let it go ” ปล่อยให้มันผ่านไป อย่ารับเอาความไม่สบายใจไว้ ถ้าเผลอไปมันแอบเข้ามาอยู่ในใจได้ พอมีสติรู้สึกตัวว่า ความไม่สบายใจเข้ามาแอบอยู่ในใจ ต้อง get it out อย่าเลี้ยงเอาความไม่สบายใจไว้ในใจ มันจะเคยตัว ทีหลังจะเป็นคนอ่อนแอ ออดแอด ทำอะไรผิดพลาดนิด ๆ หน่อย ๆ ก็ไม่สบายใจเคยตัวเพราะความไม่สบายใจนี้แหละเป็นศัตรู เป็นมารทำให้ใจไม่สงบ ประสาทสมองไม่ปกติ เป็นเหตุให้ร่างกายผิดปกติ พลอยไม่สงบไม่สบายไปด้วย ทำให้สมองทึบ ไม่ปลอดโปร่งแจ่มใส เป็น habit ความเคยชินที่ไม่ดี เป็นอุปสรรค กีดกั้นขัดขวางสติปัญญาไม่ให้ปลอดโปร่งแจ่มใสต้องฝึกหัดแก้ไขปรับปรุงจิตใจเสียใหม่ ทั้งก่อนที่จะทำอะไรหรือกำลังกระทำอยู่ และเมื่อเวลากระทำเสร็จแล้ว ต้องหัดให้จิตใจแช่มชื่นรื่นเริง เกิดปิติปราโมทย์ เป็นสุขสบายอยู่เสมอ เป็นเหตุให้เกิดกำลังกายกำลังใจ “ enjoy living ” มีชีวิตอยู่ด้วยความเบิกบาน สมองจึงจะเบิกบาน จะศึกษาเล่าเรียนก็เข้าใจง่าย เหมือนดอกไม้ที่แย้มบานต้อนรับหยาดน้ำค้างและอากาศบริสุทธิ์ ฉะนั้น

* * * * * * * * * * * * * * *
จงระลึกถึงคติพจน์ว่า ...............
“ do no wrong is do nothing ”

ทำอะไรไม่ผิดเลย ก็คือไม่ทำอะไรเลยความผิดนี้แหละเป็นครูอย่างดี ควรจะรู้สึกบุญคุณของตัวเอง ที่ทำอะไรผิดพลาด และควรสบายใจที่ได้พบกับอาจารย์ผู้วิเศษ คือ ความผิด จะได้ตรงกับคำว่า “ เจ็บแล้วต้องจำ “ ตัวทำเอง ผิดเอง นี้แหละ เป็นอาจารย์ผู้วิเศษ เป็น “ good example “ ตัวอย่างที่ดี เพื่อจะได้จดจำไว้สังวรระวังไม่ให้ทำผิดต่อไป แล้วตั้งต้นใหม่ด้วยความไม่เลินเล่อ เผลอประมาท อดีตที่ผิดไปแล้วก็ผ่านล่วงเลยไปแล้ว แต่อาจารย์ผู้วิเศษยังอยู่ คอยกระซิบเตือนใจอยู่เสมอทุกขณะว่า “ ระวัง อย่าประมาทนะ อย่าให้ผิดพลาดเช่นนั้นอีกนะ “
" ผิดหนึ่งพึงจดไว้ ในสมอง เร่งระวังผิดสอง ภายหน้าสามผิดเร่งคิดตรอง จงหนัก เพื่อนเอย ถึงสี่อีกทีห้า หกซ้ำ อภัยไฉน "
จงสังเกตพิจารณาดูให้ดีเถิด จะเห็นได้ว่า นักค้นคว้าวิทยาศาสตร์ทางโลกก็ดี และท่านผู้วิเศษที่เป็นศาสดาจารย์ในทางธรรมทั้งหลายก็ดี ล้วนแต่ผ่านพ้นอุปสรรคความผิดพลาด


* * * * * * * * * * * * * * * *

ที่จะทำอะไรไม่ผิดนั้น ข้อสำคัญอยู่ที่สติ ถ้ามีสติคุ้มครอง กาย วาจา ใจ อยู่ทุกขณะ จะทำอะไรไม่ผิดพลาดเลย ที่ผิดพลาดเพราะขาดสติ คือ เผลอเหม่อ เลินเล่อ ประมาท ระเริง หลงลืม จึงผิดพลาดจงนึกถึงคติพจน์ว่า “ กุมสติต่างโล่ป้อง อาจแกล้วกลางสนาม ”ธรรมดาชีวิตทุกชนิดทั้งมนุษย์และสัตว์ ตลอดทั้งพืชพันธุ์พฤกษาชาติเป็นอยู่ได้ด้วยการต่อสู้ ตรงกับคำว่า “ life is fighting ”- ชีวิต คือ การต่อสู้ “ เมื่อต่อสู้ไม่ไหวขณะใดก็ต้องถึงที่สุดแห่งชีวิตคือ “ death – ความตาย “เพราะฉะนั้นยังมีสติอยู่ตราบใด ถึงตายก็ตายแต่กาย เช่นกับพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ ท่านมีสติไพบูลย์อยู่ทุกขณะจิต ท่านจึงทำอะไรไม่ผิด และถึงซึ่งอมตธรรม คือ ธรรมที่ไม่ตาย ตรงกับคำว่า immortal “ จึงเรียกว่า ปรินิพพาน คือ นาม รูป สังขาร ร่างกาย ที่เรียกว่าเบญจขันธ์ ขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แตกดับไปเท่านั้น ”เพราะฉะนั้น ควรฝึกฝนสติสัมปชัญญะ เมื่อทำเสร็จแล้วก็มีสติตรวจตรา พิจารณาดูว่า บกพร่องอย่างไร หรือเรียบร้อยบริบูรณ์ดี ถ้าบกพร่องก็รีบแก้ไขให้สมบูรณ์ต่อไป ถ้าเรียบร้อยดีอยู่ก็พยายามให้เรียบร้อยดียิ่ง ๆ ขึ้นไปจนถึงที่สุด


(จากธรรมมะสอนใจของท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต วัดเทพศิรินทราวาส)




ยิ่งปล่อยวาง ยิ่งเป็นสุข


ให้เราจำคำพูดของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า


ความยึดมั่นเป็นตัวทุกข์มีความยึดมั่นในสิ่งใดก็เป็นทุกข์ในสิ่งนั้น


ถ้าปล่อยวางได้ก็ไม่ทุกข์เราจึงควรรู้เท่าทันสิ่งนั้น อย่ายึดอย่าถือให้มันรุนแรง


แต่ให้รู้ว่าสิ่งนี้มันไม่ใช่ของแท้ของจริงเป็นสิ่งที่ผ่านมาในวิถีชีวิตของเรา


มันเป็นสิ่งที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป อะไรที่ผ่านมาในชีวิต


ลาภผ่านมา ยศผ่านมาความสุขผ่านมา สรรเสริญผ่านมา แล้วมันก็ผ่านไป


แต่เราหลงผิดว่า เมื่อมันผ่านไปแล้ว เราก็กลับไปจับมันอีก


รถไฟออกแล้ว เรากระโดดจับรถไฟเลยล้มลงไปปากแตก ขาหักแขนหัก


ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน อารมณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในใจของเราก็เป็นอย่างนั้น


พระพุทธเจ้าจึงสอนว่าให้ปล่อยวางให้อยู่ด้วยความว่าง ในการยึดถือในสิ่งนั้น


ให้ใช้ปัญญาพิจารณาให้รอบคอบ




แหล่งที่มา : ความแก่ที่ท่านยังไม่รู้จัก รวมพระธรรมเทศนา ของพระธรรรมาจารย์ ,2542

ธรรมะสอนใจ 2

"เมื่ออยู่ท่ามกลางความตาย

ความตายคล้ายหนามยอก ก็เอาความตายนั่นแหละ เป็นหนามบ่ง

ความตายของกายในโลงจะมีความหมายอะไร

ถ้าเราเข้าใจตายเสียก่อนตาย ร่างกายเป็นแต่เปลือกๆ ไม่มี

ความหมาย เราไม่ปรุงแต่ง เรารู้ว่าเป็นแค่การเปลี่ยนแปลงของเหตุปัจจัย

ความตาย คือ ความโง่หลงในอวิชชาว่า " ตัวกู ของกู "

" ถ้าไม่ทำตามคำสอน อย่ามาอ้อนเรียกว่า อาจารย์ "

" คนรู้ธรรมะ มักเอาชนะผู้อื่น คนปฏิบัติธรรมะ มักเอาชนะตนเอง "


วิวาทกรรม ของ ท่านพุทธทาสภิกขุ

ธรรมะสอนใจ

อุปสรรคใด ๆ ในโลกนี้

เขานั้นมี เอาไว้ให้เราข้าม

อย่ายอมแพ้ แต่จงพยายาม

อยู่ที่ความคิดรู้ สู้ที่ใจ

อุปสรรคแค่นี้ ก็แค่นี้

อุปสรรคแค่นี้ สักแค่ไหน

อุปสรรคแค่นี้ สักเท่าใด

อุปสรรคแค่ไหน ใจคิดเอง

โดย พระราชภาวนาวิสุทธิ์

เป็นมนุษย์หรือเป็นคน


เป็นมนุษย์เป็นได้เพราะใจสูง เหมือนกันหนึ่งยูงมีดีที่แววขน

ถ้าใจต่ำเป็นได้แต่เพียงคน
ย่อมเสียทีที่ตนได้เกิดมา

ใจสะอาด ใจสว่าง ใจสงบ ถ้ามีครบควรเรียกมนุสสา

เพราะทำถูกพูดถูกทุกเวลา
เปรมปรีดาคืนวันสุขสันต์จริง

ใจสกปรก มืดมัวและร้อนเร่า ใครมีเข้าควรเรียกว่าผีสิง

เพราะทำผิดพูดผิดจิตประวิง
แต่ในสิ่งนำตัวกลั้วอบาย

คิดดูเถิด ถ้าใครไม่อยากตก
จงรีบยกใจตนรีบขวนขวาย

ให้ใจสูงเสียได้ก่อนตัวตาย ก็สมหมายไม่เสียทีที่เกิดมา.
..........................................................................